การใช้สมาร์ทโฟนในเวลาทำงาน

ข้อคิดบางด้านตอนใช้สมาร์ทโฟนคอมพิวเตอร์

เคยได้ยินมาว่าในประเทศสหรัฐอเมริกา สาเหตุที่คนถูกไล่ออกจากงานมากที่สุดคือ การเล่นคอมพิวเตอร์ในเวลาทำงาน การเล่นคอมพิวเตอร์ไม่ใช่หมายถึงเล่นเกมอย่างเดียว รวมไปถึงการแชต เฟสบุ๊ค ไลน์ ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อทำงานที่ตนเองรับผิดชอบ

การมีใช้เครื่องคอมพิวเตอร์อย่างแพร่หลายจนไปอยู่รวมกับเครื่องรับโทรศัพท์ ซึ่งเรียกว่าสมาร์ตโฟน พึ่งจะมีมาไม่นาน แต่ก็เป็นที่เข้าใจและยอมรับในทางสากลถึงมารยาทและการมีวัฒนธรรมของผู้ใช้ เช่น เมื่อเข้าในที่ประชุมจะต้องปิดโทรศัพท์ เสียงเรียกโทรศัพท์ดังขณะประชุม จะเป็นการเสียมารยาท เนื่องจากเป็นเสียงรบกวนสมาธิของคนอื่น ดึงความสนใจของทุกคนในที่ประชุมไปที่เสียงนั้นทันที ด้วยความไร้เดียงสาของบางคน รับสายนั่งคุยเสียเสียงดัง หรือไม่ก็เดินไปคุยไปขณะเดินออกจากห้อง เคยมีผู้สื่อข่าวถูกเชิญออกไปนอกห้องเนื่องจากโทรศัพท์ดังขณะที่กำลังสัมภาษณ์บุคคลสำคัญอยู่

จากที่เคยต้องใช้อินเตอร์เน็ตบนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ต้องวางบนโต๊ะไม่ว่าที่บ้านหรือที่ทำงาน ระบบ 3G ทำให้ผู้คนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านโทรศัพท์เครื่องเล็กๆ เกิดสังคมก้มหน้าทั่วโลก แต่ก็เป็นที่ยอมรับของสังคมทั่วไปว่า ผู้มีวัฒนธรรมจะไม่เล่นอินเตอร์เน็ตในขณะที่กำลังเข้าร่วมประชุม ผู้พูดหรือประธานก็พูดไปบนเวที ผู้ฟังดูเหมือนเงยหน้าตั้งใจฟังแต่มองต่ำ ใบหน้าสะท้อนแสงของหน้าจอ โทรศัพท์ ประชุมเสร็จส่งข้อความ ส่งไลน์ เฟสบุ๊ค เสร็จพอดี พวกเราที่เป็นครูเห็นนักเรียนในห้องมาเยอะ คงตอบได้ว่าผู้พูดบนเวทีเขาจะไม่รู้หรือว่าทำอะไรอยู่ อาจรู้สึกสมเพชในความด้อยวัฒนธรรมของหน่วยงาน ที่ส่งผู้นั้นมาร่วมประชุม แถมปล่อยเสียง ติ้งๆ ติกๆ รบกวนคนรอบข้างให้รู้ว่า ไลน์ข้าฯเข้ามาแล้ว

แล้วเวลาทำงานล่ะ โดยเฉพาะในโรงเรียนที่ครูทุกคนต้องรับผิดชอบนักเรียนทั้งโรงเรียนจนกว่าเด็กจะกลับ บ้านหมดในตอนเย็น เรามีสิทธิ์เล่นคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเพียงใด เล่นไม่ใช่ใช้ทำงาน ในชั่วโมงสอนเมื่อมอบหมายงานให้นักเรียนทำแล้ว ครูขอใช้สิทธิ์เล่นไลน์ เฟสบุ๊คที่โต๊ะครูได้หรือไม่ ก็เฝ้าเด็กเหมือนกัน หรือต้องคอยเดินไปตามโต๊ะเพื่อตรวจดูการทำงานของนักเรียนแต่ละคนว่าทำถูกหรือ ผิดตั้งใจหรือไม่

แล้วเวลาพักเที่ยงทานอาหารกลางวัน เป็นเวลาส่วนตัวที่ทำอะไรก็ได้ เล่นเกม ไลน์ เฟสบุ๊ค คิดดูก็น่าจะดีกว่าไปแอบนอน แต่มันช่วยไม่ได้ที่มาเป็นครูในโรงเรียน เวลาพักเที่ยงนักเรียนไม่ใช่ เครื่องจักรกลที่ปิดสวิตช์ให้มันอยู่นิ่งๆได้ เป็นเวลาเด็กจะซนวิ่งเล่น ทะเลาะกัน หนีออกนอกโรงเรียน เด็กโตจะไถเงินรังแกเด็กเล็กกว่า นักเรียนทั้งหมดยังต้องอยู่ในสายตาครู ถ้าคิดว่าเป็นเวลาส่วนตัวของครู แต่ละคนแล้ว โรงเรียนคงจะไปไม่รอดแน่

แล้วคาบว่างไม่มีการสอน ถือเป็นเวลาส่วนตัวได้หรือไม่ คาบว่างยังเป็นเวลาทำงานไม่ใช่เวลาส่วนตัว ต้องตรวจงานนักเรียน เตรียมสอนดีๆด้วยเทคนิคใหม่ๆ หากจะก้มหน้าใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ ขอให้เป็นการหาความรู้เกี่ยวกับงานเพื่อทำให้ตัวเราเองเป็นครูที่ดีขึ้น พวกเรามาถึงแล้วซึ่งยุคสมัยที่กล่าวว่า หาความรู้หรือเรียนรู้ได้ทุกอย่าง ทุกเวลา ทุกสถานที่

ในที่ประชุมไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก เมื่อการประชุมเริ่มแล้ว เป็นที่รู้กันว่าห้ามคุยกัน เสียมารยาท อันควรไม่มีวัฒนธรรมที่ดี ก้มหน้าคุยกับคนนั่งข้างๆเบาๆไม่มีใครเห็น พวกเราเป็นครู ถ้านักเรียนคุยกัน ขณะที่กำลังสอน ก้มหน้าทำอะไรใต้โต๊ะบนโต๊ะ เคยรอดสายตาครูหรือไม่ ถ้าครูไม่เห็น เห็นแล้วไม่เตือน ก็น่าต้องเลิกอาชีพนี้ไปทำอย่างอื่น แต่ในที่ประชุมประธานหรือคนพูดบนเวทีคงจะไว้หน้าคนคุย คิดในใจว่า กลุ่มนี้มาจากไหน

พวกเราที่เป็นคริสเตียนต้องรู้ว่า หากเรามาสายขณะที่ประชุมกำลังยืนร้องเพลงเปิดการประชุม หรือกำลัง อธิษฐาน เราต้องยืนรอจนกว่าจะอธิษฐานเสร็จ จึงค่อยเดินเข้าไปหาที่นั่งด้วยอาการสำรวม ถ้าเพื่อนของเรา กำลังคุยกับผู้ใหญ่บุคคลสำคัญมากๆ เราคงไม่เสียมารยาทที่จะเข้าไปรบกวนหรือขัดจังหวะ หากเวลานมัสการ เริ่มแล้ว เราเข้าที่ประชุมสาย ไม่ต้องไปทักทายถามสารทุกข์สุกดิบกับคนที่นั่งอยู่ก่อนแล้ว เข้าไปหาที่นั่ง สำรวมเงียบๆจนกว่าการนมัสการจบ

เมื่อเลิกงานเป็นเวลาส่วนตัว จะใช้จะดูคอมพิวเตอร์โทรศัพท์อย่างใดเป็นสิทธิของเราจริงๆ ถ้าให้ดี แบ่งเวลาที่ให้เราได้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับหน้าที่การงานของเรา จะผลักเราและโรงเรียนให้เจริญก้าว หน้าเป็นอย่างยิ่ง.

ข้อคิดเห็นจาก ดร.กิตติพัฒน์ ตันตระรุ่งโรจน์ พ.ศ. ๒๕๕๙